18 ตุลาคม 2559
โลกได้ข้อสรุปในการจัดการกับ HFCs ก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ: ก้าวสำคัญหลังจากข้อตกลงปารีส
การประชุมภาคีสมาชิกพิธีสารมอนทรีออล สมัยที่ 28 ที่เมืองคิกาลี ประเทศรวันดา ระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคม 2559 ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ การยกเลิกสารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน หรือ HFCs (Hydrofluorocarbons) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญชนิดหนึ่ง นับเป็นก้าวที่สำคัญในการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น อีกทั้งยังนับเป็นการดำเนินการจัดการกับโลกร้อนที่สำคัญที่สุดในรอบปีนี้เลยทีเดียว ก่อนที่เหล่าผู้นำจะประชุมเรื่องโลกร้อนกันที่โมรอคโคในอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์
ข้อสรุปที่ได้ มีการกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกันสำหรับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในการลดและยกเลิกการผลิตและการใช้สาร HFCs โดยประเทศพัฒนาแล้วตกลงที่จะลดการผลิตลงช่วงแรกภายในปี พ.ศ. 2562 อีกทั้งยังได้ยืนยันที่จะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มในกองทุนพหุภาคีด้วย นอกจากนี้ ประเทศจีน บราซิล อัฟริกาใต้ อาร์เจนติน่า พร้อมกับประเทศกำลังพัฒนาอีกกว่า 100 ประเทศ ก็ได้ตกลงที่จะลดและเลิกการผลิตและการใช้ระยะแรกภายในปี พ.ศ. 2567 และจะดำเนินการลดและเลิกเพิ่มเติมต่อหลังจากนั้น ส่วนประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และปากีสถาน ตกลงที่จะดำเนินการลดและเลิกหลังจากนั้น
ระยะเวลาและระดับการลดและยกเลิกสาร HFCs ภายใต้การแก้ไขพิธีสารมอนทรีออลนี้ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 70 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในระหว่างปีพ.ศ. 2563-2593 ซึ่งเทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 500 MW ลง 750 โรง หรือ ลดการใช้รถยนต์ลง 500 ล้านคัน นับจากตอนนี้ไปจนถึงปีพ.ศ. 2593
“นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดในปีนี้ ที่ทุกประเทศได้ยืนยันตามข้อตกลงปารีส ที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การลดการปล่อย HFCs จะช่วยชะลออัตราการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลง ซึ่งจะช่วยปกป้องชุมชนที่เปราะบาง และนั่นหมายถึงชุมชนจำนวนมากจะเสี่ยงต่อผลกระทบน้อยลงและจะมีโอกาสที่จะอยู่รอดภายใต้โลกที่ร้อนขึ้นได้” สาคร สงมา ผู้ประสาน CAN Thailand กล่าว
“สัญญาณจากคิกาลีในการลด ละ เลิกสาร HFCs ชัดเจน เป็นสัญญาณถึงการที่ทุกประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา จะเริ่มการดำเนินการในทางเลือกอื่นๆที่จะไม่เพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นไปอีก เป็นสัญญาณต่อตลาดและธุรกิจที่จะต้องหาสารทดแทนอื่นๆมาใช้ในกระบวนการผลิต นี่จะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคพลังงานหันมาให้ความสำคัญและเดินหน้าในทางเลือกที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ” ณัฐวุฒิ อุปปะ ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กล่าว
“ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากคิกาลีเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินการเพื่อจัดการกับโลกร้อน เราจะต้องเดินหน้าและสานต่อความสำเร็จและบทเรียนที่เกิดขึ้นที่คิกาลีและการเจรจาภายใต้พิธีสารมอนทรีออล โดยเฉพาะเรื่องการเงินและเทคโนโลยี ไปสู่ความเข้มข้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆต่อไป โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราหวังว่า ทุกประเทศจะเร่งดำเนินการลดการปล่อยให้เร็วที่สุดเพื่อให้เรามีโอกาสที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส” วนัน เพิ่มพิบูลย์ Climate Watch Thailand กล่าว
ประเทศต่างๆ กำลังเริ่มดำเนินการตามที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลงปารีสอย่างจริงจัง ในการเดินหน้าการพัฒนาโดยอาศัยทางเลือกที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ การเติบโตของ HFCs อย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีการควบคุมจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 0.1องศาเซลเซียสภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ และจะเพิ่มสูงเป็น 0.5 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 26431 ถ้าสามารถลดการปล่อยทั้งหมดลงภายในปีพ.ศ. 2593 จะช่วยทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้ 0.5 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 26432 ผลที่เกิดขึ้นคือ จะลดอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลลงร้อยละ 24-50 และสามารถลดการเพิ่มขึ้นของระดับนำ้ทะเลสะสมลงร้อยละ22-42 ภายในปีพ.ศ. 26433
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม HFCsกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1Y Xu, D Zaelke, Velders GJ.M et al, The role of HFCs in mitigating 21st century climate and Stephen O Anderson, Primer on HFCs, change, Atmospheric Chemistry and Institute for Governance & Sustainable Physics, 2013,13:6083-6089.
2N Shah, M Wei, V Letschert et al, Benefits of Leapfrogging to Superefficiency and Low Global Warming Potential Refrigerants in Room Air Conditioning, 2015.
3Hu A, Y Xu, C Tebaldi et al, Mitigation of short-lived climate pollutants slows sea-level rise, Nature Climate Change, 2013, 3:730-734.