ดิฉันเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านตากแดด มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีการดำเนินชีวิตและความยากลำบากมากมายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงแรกๆ จากการซื้อแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยใช้เอง ตอนนั้นเจลล้างมือไม่มีขาย ต้องสั่งซื้อ หน้ากากอนามัยไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลย ต้องเอาหน้าผ้าที่มีอยู่มาใช้ก่อน แล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการพ่นยาฆ่าเชื้อในหมู่บ้านอีก
ดิฉันเครียดและกังวลมากจากหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นจากการใส่หน้ากากตลอดเวลาทำให้หายใจยากขึ้น เพราะอากาศร้อนมาก มีความหวาดระแวง จะหยิบจะจับอะไรก็กังวลไปหมด ระแวงว่าตัวเองติดเชื้อมารึยังแล้วจะไปติดคนอื่นมั๊ย ระแวงว่าคนอื่นจะมีเชื้อมั๊ย เรียกได้ว่า หลอน เลยทีเดียว ดิฉันกลัวว่าตัวเองจะติดเชื้อแล้วนำกลับมาติดคนแก่ที่บ้านเนื่องจากต้องออกจากบ้านไปประสานงานที่อำเภอบ่อยขึ้น ไปตลาดบ่อยครั้ง เพื่อซื้อกับข้าวให้ชาวบ้านบางครัวเรือน คนพิการ ผู้สูงอายุ เพราะรถกับข้าวไม่มาขาย มีของที่ออกไปซื้อให้ชาวบ้านอีกอย่างคือยา ดิฉันต้องเข้าร้านยาเกือบทุกวัน อีกทั้งยังเครียดกับนโยบายการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ ที่หลายคนเข้าไม่ถึง ช่วงแรกๆยังมีความสับสนในเรื่องการประสานงาน คำสั่งต่างๆ จนเหมือนว่าในช่วงโควิดนี้ไม่สามารถไปทำอะไรได้เลย ต้องอยู่กับโทรศัพท์ตลอดเวลา ต้องคอยประสานภายในพื้นที่หมู่บ้านกับทางอำเภอ
ความเครียดในช่วงแรก เริ่มมาจากเรื่องการกักตัว 14 วัน ด้วยความไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของคนที่ต้องถูกกักตัว แม้จะอธิบายให้ฟังแล้วก็ตาม แต่เขาก็ไม่ยอมกักตัวเอง เราต้องคอยดูคอยตาม มีความรู้สึกถึงภาระหน้าที่ที่หนักอึ้งที่ต้องจัดการและดูแลทุกคนให้ปลอดภัย ความรับผิดชอบอยู่ที่หมู่บ้าน หมู่บ้านต้องจัดการกันเองทั้งเรื่องการเฝ้าระวัง การตั้งจุดคัดกรอง การกักตัวคนที่ผ่านเข้าออกหมู่บ้าน การสร้างความเข้าใจ การช่วยกันประสานงาน การให้ข้อมูลระหว่างชาวบ้าน อสม. ผู้นำ หมู่บ้านต้องดูแลตัวเองให้ได้
อีกทั้งยังเครียดกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่รู้ว่าอนาคตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ข้าวของก็แพง บางอย่างก็หาซื้อยาก แค่นี้หลายคนก็ลำบากกันมากแล้ว เครียดกับคำถามครอบจักรวาลจากชาวบ้านด้วย (เหนื่อยใจมากกว่าเหนื่อยกาย) หนักใจกับการที่ต้องตอบคำถามจากลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัดว่าจะกลับบ้านได้มั๊ย แต่ก็บอกว่ากลับได้หมดทุกคน เราจะห้ามไม่ให้เขามาไม่ได้เพราะเขามีธุระ นอกจากนี้ ยังมีคนที่เสพข่าวจากสื่อบนโลกออนไลน์แล้วไม่วิเคราะห์อีก ข่าวมั่วไปหมด สับสน แล้วก็มาถามผู้ใหญ่บ้าน มาว่าผู้ใหญ่บ้าน เห็นหน้าผู้ใหญ่บ้าน ก็ถามว่าทำยังไงจะได้เงิน 5,000 บาท ทำไมคนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้ บ้านโน้นบ้านนี้ได้เงินช่วยเหลือกัน ทำไมบ้านเราไม่เห็นได้บ้าง (อึม..แล้วเงินมันอยู่ตรงไหนมั่งล่ะ) แต่เราก็เห็นและเข้าใจความยากลำบากของลูกบ้านดี จึงพยายามประสานทุกทางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องข้อมูล เรื่องการเยียว การลงทะเบียน พยายามให้ชาวบ้านเข้าถึงการเยียวยามากที่สุด
ดิฉันยิ่งเครียดกับเรื่องลูก เป็นห่วง เพราะลูกเป็นเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลผู้เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด เข้าออกหมู่บ้าน เป็นการคีย์ข้อมูลภาพรวมของอำเภอ เพื่อส่งจังหวัดทุกวัน ข้อมูลที่รายงานมาจากผู้ใหญ่บ้านที่ส่งทางไลน์กลุ่ม แต่ที่ส่งมามีหลายกลุ่ม หายาก กลุ่มใหญ่ ภาพไม่ชัด ข้อมูลไม่ตรงกันบ้างระหว่างสาธารณะสุขอำเภอบ้าง กับฝ่ายปกครองบ้าง ข้อมูลหายบ้าง ดิฉันต้องคอยแนะนำ คอยช่วยแก้ปัญหา เพราะเป็นคนปฏิบัติงาน ลูกดิฉันกลับจากทำงานก็ต้องคีย์ข้อมูล งานในหน้าที่ของตนเองก็ต้องทำ เสาร์–อาทิตย์ ก็เรียนออนไลน์ และ ต้องคีย์ข้อมูลไปด้วย กลางคืนก็ไม่เว้น ดิฉันเห็นแล้วเครียด ต้องทำข้าวมาวางให้ถึงหน้าคอมพิวเตอร์ แล้วใกล้ๆ ยังมีโทรศัพท์ 2 เครื่อง โน้ตบุ๊คอีก 1 เครื่อง งานทุกอย่างเกี่ยวกับโควิด-19 ช่วงนี้ ต้องรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ เป็นห่วงลูก…
ตอนนี้ อสม. กับผู้ใหญ่บ้านออกเงินซื้อเครื่องวัดไข้กันเอง โดย อสม. ต้องวัดไข้คนที่กักตัวในหมู่บ้านส่งหมอทุกวัน ดิฉันเองก็ต้องซื้อปรอทไว้ใช้ส่วนตัวที่บ้านด้วย เพราะเคยไข้ขึ้นอยู่วันหนึ่ง ใจเสียเหมือนกัน ขับรถตากแดดมาก ร้อนมาก เดินทางไปมาจากบ้านไปอำเภอ ไปตลาด ไปร้านขายยา บ่อย กลัวว่าจะติดโควิด-19
ชาวบ้านเราให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันดี ช่วยกันเย็บหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายคนที่ไม่มี โดยนำไปเย็บที่บ้านกัน เย็บกันอยู่หลายวัน ชาวบ้านเองก็ยิ่งไม่มีจะกินอยู่แล้ว ต้องมาเปลืองค่าไฟ ไม่มีค่าแรงอีก ดิฉันก็เลยช่วยค่าไฟชาวบ้านไป 600 บาท แต่มันก็เทียบไม่ได้กับความเสียสละ น้ำใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความร่วมมือของชาวบ้านที่เกิดขึ้น ซึ้งใจและสะท้อนใจไปพร้อมๆกัน แม้ยามยากลำบาก เราก็ต้องพิ่งพาและอาศัยกันเอง…
นี่คือส่วนหนึ่งของภาระที่ภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่นในชนบทต้องแบกรับกับสถานการณ์โควิด-19… !!!